สิ่งใดบ้างที่ขับเคลื่อนตลาด? นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างผมจะพูดถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเติบโต นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง การว่างงาน เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงไม่ใช่ทุกอย่าง การเข้าใจว่าผู้คนตีความข้อเท็จจริงเหล่านั้นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน แก้วนี้น้ำหมดไปตั้งครึ่งแก้วแล้วหรือยังมีน้ำเหลืออีกตั้งครึ่งแก้ว? แก้วเดียวกัน แต่คนจะตีความแตกต่างกันออกไปตามทัศนคติของพวกเขา การตีความนั้นเป็นทุกสิ่งอย่างในตลาด ซึ่งเกิดขึ้นเพราะคนต้องการซื้อหรือขาย
เหตุการณ์สำคัญในเส้นทางอาชีพของผมในฐานะนักวิเคราะห์เกิดขึ้นในเดือนมกราคม 1980 ในวันที่ 3 มกราคม Paris Bourse ระงับการซื้อขายทองคำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เนื่องจากคำสั่งซื้อขายไม่สมดุลเพราะมีแต่ผู้ซื้อเท่านั้น ในวันรุ่งขึ้น ตลาดต้องระงับการซื้อขายอีกครั้งเนื่องจากคำสั่งซื้อขายไม่สมดุล คือมีแต่ผู้ขายเท่านั้น ต้องใช้เวลาถึง 26 ปีกว่าที่ทองคำจะได้ราคานั้นกลับคืนมา
ผมต้องใช้เวลาห้าปีกว่าจะได้เห็นวันแบบนั้นอีก ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1985 ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นภายในวันเดียวมากที่สุดในรอบเจ็ดปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศที่สำคัญ โดยขยับขึ้น 4 Pfennigs ในหนึ่งวัน แตะระดับสูงสุด ในรอบ 13 ½ ปีที่ 3.4390 DEM เงินปอนด์แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ $1.03 ในเช้าวันนั้น และเปลี่ยนแปลงก่อนจะฟื้นตัวเพื่อไปจบที่ 1.0615 สิ่งที่แปลกคือ ไม่มีใครรู้ว่าทำไมเงินดอลลาร์ถึงพุ่งทะยาน แต่เหล่าเกจิอาจารย์ส่วนใหญ่ที่ถูกกล่าวถึงในสื่อต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป อย่างไรก็ตามในวันรุ่งขึ้น พอล โวลเกอร์ ประธานเฟด ได้เริ่มพูดถึงการแทรกแซงของ FX เพิ่มเติม และใน 15 นาที เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงประมาณ 8 Pfennigs สเปรด ณ ช่วงเวลาหนึ่งอยู่ที่ 150 Ticks
เหตุการณ์เช่นนี้สอนผมว่าในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย สิ่งที่ทำให้ตลาดเคลื่อนไหวไม่ใช่เฟด ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย ไม่ใช่นโยบายการคลัง แต่เป็นอารมณ์พื้นฐานสองอย่างของมนุษย์: ความกลัวกับความโลภ
ตลาดคริปโต สถานที่ซึ่งปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นแค่เรื่องรองในซอกแคบๆ ของใจผู้คนที่นี่ เป็นตลาดแห่ง “ความกลัวและความโลภ” ที่สมบูรณ์แบบ ทำไมคนถึงซื้อคริปโต? เหรียญส่วนใหญ่มีเรื่องราวเบื้องหลัง มีทฤษฎี มีอุดมการณ์ มีภารกิจ ผู้คนอาจเชื่อในแนวคิดเหล่านี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาซื้อด้วยเหตุผลเดียว นั่นคือพวกเขาเชื่อว่ามูลค่าของเหรียญมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น พวกเขาซื้อในฐานะการลงทุน ในฐานะสินทรัพย์ FOMO (Fear of Missing Out) หรือการกลัวตกกระแส เป็นวลีสำคัญของที่นี่เมื่อพวกเขาเห็นเพื่อนๆ ทำเงินและอ่านเกี่ยวกับมหาเศรษฐี Bitcoin (ความรู้สึกที่ผมต้องยอมรับว่าเคยรู้สึกเหมือนกันเมื่อ Bitcoin ไปที่ $60,000 และผมเริ่มตั้งคำถามว่าผมจะมีเงินมากแค่ไหนถ้าผมซื้อสิ่งที่มีมูลค่า $1,000 ที่ราคาชิ้นละ 5¢ คำตอบ: มากกว่าที่ผมมีอยู่ตอนนี้แน่นอน)
ในทางกลับกัน เมื่อราคาเริ่มร่วงลง บางคนก็เต็มใจที่จะ HODL (Hold On for Dear Life) หรือถือไว้ไม่ยอมปล่อย แต่อีกหลายคนก็ตัดสินใจออกในขณะที่พวกเขายังทำได้ จากนั้น FOMO ก็ถูกลืม และเราได้เห็นปรากฏการณ์ของตลาดที่ใช้คำภาษาเยอรมันว่า Torschlusspanik: ความกลัวของการปิดลงของประตู เข้ามาแทน นี่คือความตื่นตระหนกที่ทำให้ธนาคารต้องวิ่งหนี
นั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นในสัปดาห์นี้ ตัวอย่างสำหรับปรากฏการณ์นี้คือเหรียญชื่อ Luna เดือนที่แล้ว เหรียญนี้เป็นคริปโตเคอเรนซี่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับที่ 4 Luna เป็นเหรียญน้องของ Stablecoin ชื่อ TerraUSD หรือที่รู้จักในชื่อ UST โดย TerraUSD ควรจะถูกตรึงไว้ที่ $1 แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ “เหรียญแตก (Broke the Buck)” และตอนนี้เทรดกันอยู่ที่ประมาณ $0.40 ด้วยสาเหตุนี้ Luna จึงดิ่งลง ปิดที่ $77.46 ในวันศุกร์, $64.08 ในวันอาทิตย์, $32.00 ในวันจันทร์, $17.52 ในวันอังคาร และปิดที่ $1.07 ในวันพุธ วันพฤหัสบดี ขณะมองหากราฟราคา ผมเห็นโควตราคาอยู่ที่ $0.01491 โอ๊ะ ขออภัย! ตอนนี้อยู่ที่ $0.01289 แล้ว ร่วงไปมากกว่า 14% ในไม่กี่นาที เมื่อเปรียบเทียบกัน เมื่อวันที่ 5 เมษายน เหรียญนี้ทำสถิติสูงสุดที่ $119.18
(ในกรณีที่คุณคิดว่าราคานี้ตกต่อไปไม่ได้แล้ว ในเช้าวันศุกร์ราคาอยู่ที่ $0.00005348 ร่วงลง 99.6% จากราคาตอนที่ผมเขียนเมื่อวันพฤหัสบดี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ไม่ว่าจะลดต่ำลงแค่ไหน คุณก็ยังสามารถสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้ง 100% คล้ายๆ กับ Zeno’s paradox ในเวอร์ชันการเงิน)
นี่เป็นเรื่องที่ต่างออกไปอย่างมากจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาเมื่อโฆษณาสำหรับคริปโตเคอเรนซี่เข้าครองซูเปอร์โบวล์ แพลตฟอร์มโฆษณาทางโทรทัศน์ที่แพงที่สุดของอเมริกา “นี่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดตัวอย่างแท้จริงของทั้งภาคส่วน” นักข่าวของ The Wall Street Journal กล่าว ในสิ่งที่อาจกลายเป็นผลงานชิ้นเอกของการประชดประชันโดยไม่ได้ตั้งใจนี้ เขาชี้ให้เห็นว่าการแสดงโฆษณาจากภาคส่วนนี้ในปี 2022 คล้ายกับ “ดอทคอมโบวล์ในปี 2000” เมื่อโฆษณาซูเปอร์โบวล์ถูกครองโดย “แบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งหลายแบรนด์ก็ล้มเหลว” อืม…
เรื่องที่แปลกก็คือ จุดขายสำคัญของเหรียญเหล่านี้ คือป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ เพราะพวกมันไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่ทำให้ค่าเงินของพวกเขาเสื่อมค่าลง บนพื้นฐานนั้น ใครๆ ก็จินตนาการว่าคริปโตจะลอยลำเข้าเส้นชัยเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการได้ในปีที่แล้ว แต่ปรากฎว่ามันไม่ใช่แบบนั้น
กราฟนี้แสดง Bitcoin และปฏิกิริยาของมันต่อการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐ โดยกราฟแสดงให้เห็นว่ามูลค่าของ Bitcoin เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในช่วง 5 นาที, 30 นาที และ 1 ชั่วโมงหลังเปิดเผยข้อมูลดัชนี การเปลี่ยนแปลงนี้วัดจากความประหลาดใจจากการประกาศ – การเปิดเผยจริงแตกต่างจากการคาดการณ์ล่วงหน้าที่เป็นฉันทามติของตลาดมากแค่ไหน (วัดจากค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์รายต่างๆ ที่ทำแบบสำรวจ) กราฟนี้แสดง CPI จนถึงเดือนมีนาคมซึ่งเผยแพร่ในเดือนเมษายน
สิ่งที่คุณสามารถบอกได้ทันทีเลยจากกราฟก็คือเส้นแนวโน้มลาดลงไปทางขวา นั่นคือ Bitcoin มีแนวโน้มที่จะปรับลงเมื่อ CPI สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้และจะปรับขึ้นเมื่อไม่ถึงเป้า หากมันเป็นตัวป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อจริง เส้นก็จะต้องไปในทิศทางตรงกันข้าม ผู้คนจะซื้อเมื่อเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น แต่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น เช่นเดียวกับผู้ถือสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ พวกเขาขายเมื่อดูเหมือนว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ซึ่งก็เหมือนกันกับทองคำ ทองคำมีการซื้อขายเหมือนกับสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ไม่ใช่การป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
กลับไปที่ Bitcoin กราฟนี้อัปเดตเพิ่มด้วยตัวเลข CPI เดือนเมษายนที่เผยแพร่ในวันพุธ คุณจะเห็นว่าราคาของ Bitcoin ร่วงลงมากกว่าที่เคยเป็นมาด้วยความเซอร์ไพรส์ในขนาดปริมาณ สิ่งนี้บ่งบอกถึงความกังวลใจที่เพิ่มขึ้นในหมู่เหล่าผู้ที่อยู่สาย HODL
อันที่จริงตอนนี้ Bitcoin มีการเทรดกันเกือบจะเหมือนกับ S&P 500 ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงรายวันกับตลาดหุ้นทำสถิติสูงสุดที่ประมาณ 70%
สรุปได้ว่าตลาดกำลังเข้าสู่ช่วงอันตรายเนื่องจากจิตวิทยาของนักลงทุน เทรดเดอร์จำนวนมากไม่เคยเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องและไม่เคยเห็นตลาดหมีมาก่อน ผู้ที่ “ซื้อช่วงย่อ” และ HODL ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมากำลังได้เรียนรู้ว่าเหตุใดบริษัทเช่นเราจึงมีคำเตือนความเสี่ยงในการนำเสนอของเรา และทำไมเราจึงเน้นย้ำอยู่เสมอว่า “ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไม่ได้เป็นการรับประกันผลการดำเนินงานในอนาคต”
ผมไม่ได้จะบอกว่าตลาดกำลังดิ่งลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนคิดว่าคริปโตจบสิ้นแล้วเมื่อ Bitcoin ร่วงจากจุดสูงสุดในเดือน ธันวาคม 2017 ที่ $19,042 มาที่ $3,157 ในอีกหนึ่งปีให้หลัง แต่ดูสิว่าเกิดอะไรขึ้น! เป็นเรื่องจริงที่ ณ จุดหนึ่งในวันพฤหัสบดี Bitcoin ปรับลง 10% ในวันเดียว แต่ก็เด้งกลับมาประมาณ 20% โดยมีการเทรดสูงขึ้น 7% จากราคาปิดในวันพุธ แค่จำไว้ว่าขณะที่คุณกำลังเทรด ตลาดสามารถลงได้เช่นเดียวกับขึ้น นี่เป็นบทเรียนที่หลายคนที่เริ่มเทรดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังไม่ได้เรียนรู้
ดัชนีชี้วัดในสัปดาห์หน้า: มี CPI เพิ่มอีก, สหราชอาณาจักรเป็นดาวเด่น
เช่นเคย จุดโฟกัสในสัปดาห์หน้าจะอยู่ที่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ อังกฤษกับแคนาดาจะเปิดเผย CPI ในวันพุธ, ญี่ปุ่นเปิดเผย CPI ทั่วประเทศในวันศุกร์
อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากเพดานราคาพลังงานสำหรับครัวเรือนกระโดดขึ้นไป 54% ในเดือนเมษายน ตัวเลขทั่วไปไม่น่าจะทำให้ใครตกใจเนื่องจากธนาคารกลางอังกฤษคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณ 9.1% yoy ในไตรมาส 1 ถึงกระนั้น แม้แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมพลังงานก็คาดว่าจะปรับขึ้นเช่นกัน CPI ที่จะมาหลังจากตัวเลข GDP ที่น่าผิดหวังในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากผลผลิตดังกล่าวลดลงในเดือนมีนาคม จะชี้ให้เห็นถึงภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของธนาคารกลางอังกฤษ: อัตราเงินเฟ้อแบบเฉียบพลันกับการยอมแลกการเติบโต ผมคิดว่าพวกเขาน่าจะเลือกการเติบโต นั่นหมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ลดลงกับเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง
สหราชอาณาจักรมีตัวชี้วัดสำคัญอื่นๆ อีกหลายตัวที่จะออกมาในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การจ้างงาน (อังคาร) และยอดขายปลีก (ศุกร์) แต่ความสนใจมีแนวโน้มที่จะโฟกัสไปที่ข้อพิพาทที่ขยายตัวขึ้นเกี่ยวกับระเบียบการของไอร์แลนด์เหนือ (NI) เหมือนกับซอมบี้ที่ไม่ยอมตายสักที ปัญหานี้ลุกกลับออกมาจากหลุมครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีวิธีแก้ปัญหาที่ดีพอที่จะเริ่มดำเนินการได้ Maroš Šefčovič รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปหรือ European Commission (EC) และ Liz Truss รมว.กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษได้แลกเปลี่ยนคำพูดเฉือนคมกันในหัวข้อนี้
ตามรายงานของ The Economist ปัญหาคือพรรค Democratic Unionist Party (DUP) ซึ่งมาเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งของ NI ครั้งล่าสุด ไม่ชอบระเบียบการที่จะบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่าง NI กับ “แผ่นดินใหญ่” โดยปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร NI (ตำแหน่งบริหารรัฐบาลที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจของ NI) จนกว่าระเบียบการจะถูกรื้อทิ้งหรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขีด (ฝ่ายบริหารไม่สามารถทำงานได้หากไม่มีทั้งนายกและรองนายกรัฐมนตรี ดังนั้นการปฏิเสธของพวกเขาจึงปิดประตูรัฐบาล NI) ในการตอบสนองกลับ Truss มีแผนที่จะเสนอร่างกฎหมายใหม่เพื่อยกเลิกระเบียบการส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่า EC จะต้องไม่ชอบใจ การเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องและการตอบโต้ทางการค้า ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเงินปอนด์
ยังไม่มีการคาดการณ์สำหรับ CPI ของแคนาดา ตัวเลขที่สูงขึ้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ในแถลงการณ์หลังการประชุมเดือนเมษายน ธนาคารกล่าวว่า “ขณะนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อใน CPI จะเฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 และยังคงสูงกว่าช่วงการควบคุมตลอดทั้งปีนี้” ตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสร้างพื้นหลังที่เข้มงวดให้กับการประชุมของธนาคารกลางแคนาดาในวันที่ 1 มิถุนายน CAD+
แคนาดาจะเผยตัวเลขยอดเริ่มสร้างบ้านในวันจันทร์ด้วย
CPI ทั่วประเทศของญี่ปุ่นคาดว่าจะกระโจนไป 1.3 จุดเปอร์เซ็นต์เป็น 2.5% yoy นี่จะเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่อยู่เหนือ 2% โดยไม่มีการปรับขึ้นภาษีการบริโภค (เกือบ) เราจะคาดหวังดอกไม้ไฟในคาซูมิงาเซกิ พื้นที่ในโตเกียวที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นตั้งอยู่ได้หรือไม่? ยาก
สรุปความคิดเห็นจากการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นเดือนเมษายนแสดงให้เห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของคณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงระแวงว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่เหนือเป้าหมายที่ 2% อย่างต่อเนื่องหรือไม่ “อัตราการเปลี่ยนแปลง CPI แบบปีต่อปีมีแนวโน้มที่จะอยู่แถว 2 เปอร์เซ็นต์ในช่วงนี้โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน แต่อัตราการเพิ่มขึ้นที่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่น่าจะอยู่ได้อย่างต่อเนื่องเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณครัวเรือน” สมาชิกรายหนึ่งกล่าว อีกรายออกความเห็นว่า “อัตราการเปลี่ยนแปลง CPI แบบปีต่อปีมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2022 เนื่องมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้นเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังต้องให้ความสนใจต่อความเสี่ยงด้านลบที่เกิดจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง” ยังคงกังวลความเสี่ยงด้านลบของอัตราเงินเฟ้ออยู่อีก!
หมายเหตุไว้เพิ่มงว่าอัตราเงินเฟ้อ “หลักของหลัก” ไม่รวมพลังงานและอาหารสด (ไม่แสดง) ซึ่งคล้ายคลึงกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในประเทศอื่นๆ โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง +0.7% yoy เท่านั้น นี่เป็นการฟื้นตัวครั้งใหญ่จากภาวะเงินฝืดที่ -0.7% yoy ในเดือนมีนาคม แต่ก็ยังไม่ใช่การเพิ่มขึ้นที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ JPY ไม่บวกไม่ลบ
ญี่ปุ่นจะประกาศ GDP ไตรมาส 1 ในวันพุธด้วย ตลาดคาดว่าผลผลิตจะลดลง น่าจะเป็นเพราะข้อจำกัดของ COVID-19 ที่ยังหลงเหลืออยู่และปัญหาเกี่ยวกับกับซัพพลายเชนจากประเทศจีน การเติบโตคาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 2 ดังนั้นผมจึงไม่คาดว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินเยนนานนัก อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องระงับนโยบายการปรับให้เป็นปกติ หรือแม้แต่การแก้ไขด้วยอัตราสูงสุด ±25 จุดในนโยบาย “Yield Curve Control” JPY-ลบ
มีดัชนีชี้วัดที่สำคัญอื่นๆ ของญี่ปุ่นออกมาด้วย เช่น ภาคอุตสาหกรรมขั้นที่สาม (อ.) และดุลการค้ากับยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักร (พฤ.)
สำหรับสหรัฐ วันสำคัญจะเป็นวันอังคาร ซึ่งจะมีการเปิดเผยยอดขายปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนียอดขายปลีกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 6 เดือน (+0.9% mom กับ +1.0% เฉลี่ย mom) ซึ่งอาจสร้างความมั่นใจให้กับผู้คนได้ว่าผู้บริโภคในสหรัฐยังคงเข้มแข็งและมีอารมณ์ซื้อ ตัวเลขดังกล่าวน่าจะได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 8.9% mom หากไม่รวมยอดขายรถยนต์และสถานีบริการน้ำมัน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแค่พอประมาณที่ 0.4% mom
แต่ก็ถือว่าค่อนข้างดีแล้วเมื่อพิจารณาจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงในช่วงนี้ และอย่างที่ผมพูดไปก่อนหน้านี้ ผมไม่เห็นหลักฐานอะไรมากนักว่าแบบสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะให้การคาดการณ์ที่เป็นประโยชน์สำหรับการบริโภค ผมคิดว่าข้อมูลดังกล่าวจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้คนเกี่ยวกับสุขภาพของเศรษฐกิจสหรัฐที่เน้นการบริโภค และเป็นผลบวกต่อดอลลาร์สหรัฐ
สหรัฐจะได้เห็นดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมกับดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์ก (จ.) และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย (พฤ.) เช่นเดียวกับสถิติเกี่ยวกับการเคหะสองรายการ: ยอดเริ่มสร้างบ้าน (พ.) และยอดขายบ้านที่มีอยู่เดิม (พฤ.) ข้อมูลที่อยู่อาศัยจะมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของอัตราการจำนองที่เพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้และหลักฐานพอสมควรของความต้องการบ้านที่ลดลงเนื่องจากหุ้นตกและผลกระทบของความมั่งคั่งแบบย้อนกลับเริ่มส่งผล
สถิติทั้งสองชุดคาดว่าจะลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น: ยอดเริ่มสร้างบ้านที่ 1.76 ล้านแบบเทียบปีต่อปี เทียบกับ 1.79 ล้านในครั้งก่อนหน้า และยอดขายบ้านเดิมที่ 5.65 ล้านแบบเทียบปีต่อปี เทียบกับ 5.77 ล้าน ความไม่ย่อท้อของภาคการเคหะเมื่อเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้เฟดมั่นใจว่าพวกเขาสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ นั่นจะเป็น USD กระทิง แต่อาจจะเป็นหุ้นหมี
ไม่ค่อยมีอะไรในกำหนดการจากทางยุโรป: ประมาณการครั้งที่ 2 ของ GDP ไตรมาส 1 (ซึ่งแทบจะไม่เคยแก้ไขเกิน ±10 จุด) และราคาผู้ผลิตจากเยอรมนีกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหภาพยุโรปในวันศุกร์
ดัชนีชี้วัดที่สำคัญของออสเตรเลีย 2 ตัวจะออกมาระหว่างสัปดาห์: ดัชนีราคาค่าจ้าง 1 ไตรมาส (พ.) และการจ้างงาน (พฤ.) จนถึงการประชุมเดือนเมษายน ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ได้โต้แย้งว่าไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เนื่องจาก “การเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าแรงนั้นต่ำกว่าอัตราที่มีแนวโน้มว่าจะสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องที่เป้าหมาย” แน่นอนว่าสิ่งนี้เปลี่ยนไปในการประชุมเดือนพฤษภาคม เมื่อพวกเขากล่าวว่า “ผู้ประสานงานทางธุรกิจของธนาคารแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของค่าจ้างเริ่มเพิ่มขึ้น” และพวกเขาเดินหน้าปรับขึ้นไป 25 จุดแล้ว ตอนนี้เราต้องรอดูว่าข้อมูลจะสนับสนุนสิ่งที่พวกเขาได้ยินมาหรือไม่
การคาดการณ์ของตลาดชี้ว่า RBA มาถูกทางแล้ว ค่าจ้างคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4% yoy เพิ่มขึ้นจาก 2.3% yoy ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว และต่ำสุดที่ 1.4% yoy ในไตรมาส 3 และ 4 ปี 2020
ในอดีต นี่คือระดับของการเพิ่มค่าจ้างที่เกี่ยวข้องกับอัตราเงินเฟ้อประมาณ 2% ดังนั้นอย่างน้อยก็อยู่ที่ขอบล่างของช่วงเป้าหมาย 2%-3% ของ RBA ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ทิศทางนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่พวกเขาอยากเห็น ดัชนีนี้เผยแพร่ทุกไตรมาส ดังนั้นฉบับประจำสัปดาห์นี้จึงเป็นดัชนีเดียวที่พวกเขาจะมีก่อนการประชุม RBA ในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม AUD+