ในที่สุดนักลงทุนก็เริ่มตระหนักว่า หลังจากหลายปีที่อัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ การผ่อนคลายเชิงปริมาณ และการบรรจบกันของนโยบายการเงินก็ถึงเวลากลับสู่สภาวะปกติ โดยจะมีการประชุมธนาคารกลางสองครั้งในสัปดาห์หน้า และอีกสามครั้งในสัปดาห์หลังจากนั้น คำถามที่ตลาดจะถามคือพวกเขามีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปมากเท่าไหร่และเร็วแค่ไหน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีตัวเลขเงินเฟ้อหลายตัวที่ทำให้ “ชั่วครู่” ดูเหมือนกับปีที่แล้วมาก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของแคนาดาแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1991 สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งไม่ใช่แค่การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป แต่ยังรวมถึงการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานด้วย หนึ่งในการวัดหลักของพวกเขาใน (การตัดแต่งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน) นั้นอยู่นอกช่วงเป้าหมาย 1%-3% และค่ามัธยฐานอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เส้น 3.0% พอดี
เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหราชอาณาจักร อย่างน้อยตัวเลขนี้ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะธนาคารกลางอังกฤษได้กล่าวไว้แล้วว่าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงสุดที่ “แถวๆ 6%” ในเดือนเมษายน
อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่หรือใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 30 ปีในหลายประเทศยักษ์ใหญ่
ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าธนาคารกลางเริ่มหมดความอดทน ส่วนใหญ่เลิกล้มความคิดที่ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเองตามธรรมชาติไปแล้ว โดยอาจมีธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นข้อยกเว้น พวกเขากำลังเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการ โดยมีธนาคารกลางสหรัฐที่เป็นพี่ใหญ่ในกลุ่ม เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาส่งเสียงมากที่สุด
ดังนั้น ความคาดหวังด้านนโยบายจึงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ล่าสุด
และด้วยเหตุนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจึงขยับสูงขึ้นทั่วโลก แต่สิ่งที่อันตรายคือเส้นอัตราผลตอบแทนในหลายประเทศเริ่มจะแบนราบ กล่าวคือ อัตราระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราระยะยาว เส้นอัตราผลตอบแทนมีความสูงชันมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม แต่เริ่มที่จะแบนราบในช่วงปลายสัปดาห์นี้ นั่นเป็นสัญญาณว่านักลงทุนเชื่อว่าธนาคารกลางอาจต้องรัดกุมมากจนส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ทุกๆ ครั้งที่เกิดภาวะถดถอยของสหรัฐในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะนำหน้ามาด้วยการผกผันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐแบบ 2 ปี/10 ปี กราฟ 2 ปี/10 ปีปัจจุบันอยู่ที่ 76 จุด ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของเดือนมีนาคมปีที่แล้ว
เมื่อเทียบกับข้อมูลพื้นหลังนี้ การประชุมวันพุธของ Federal Open Market Committee (FOMC) จะเป็นตัวกำหนดอัตรา
เฟดกำลังวางแผนที่จะกระชับนโยบายในปีนี้อย่างแน่นอน ในเดือนธันวาคม “กราฟจุด” แสดงให้เห็นว่าค่ามัธยฐานของสมาชิก FOMC คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสามครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนไปครั้งใหญ่จากการคาดการณ์ในเดือนกันยายนว่าจะเป็นศูนย์ นอกจากนี้ คณะกรรมการยังเร่งอัตราลดการซื้อพันธบัตรเป็นสองเท่าเพื่อให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนว่าต้องการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยเร็วที่สุด (โดยเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะไม่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะสิ้นสุดการซื้อพันธบัตร)
ในอีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ ว่าจะเริ่มปรับขึ้น (“ทะยานขึ้น”) อัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นแแค่ไหนหลังจากสิ้นสุดการซื้อพันธบัตร และยังไม่ได้ตัดสินใจว่าหลังจากเริ่มดำเนินนโบยายได้นานแค่ไหนจึงจะเริ่มลดงบดุล – “การกระชับเชิงปริมาณ (Quantitative Tightening)” หรือ QT นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าจะเริ่มลดงบดุลได้เร็วแค่ไหน และจะทำให้งบดุลหดลงทุกเดือนได้มากน้อยเพียงใด (ในตอนแรก งบดุลจะลดลงตามธรรมชาติเมื่อพันธบัตรครบกำหนด แต่ถ้าหากต้องการจำกัดจังหวะการลดลง ก็สามารถนำเงินที่ได้จากพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอนไปลงทุนใหม่ได้ในระดับหนึ่ง)
ผมไม่คิดว่าจะมีใครคาดหวังเป็นจริงเป็นจังให้เฟดเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันพุธ และตอนนี้คนส่วนใหญ่คาดว่าจะเริ่มในเดือนมีนาคม
หลังจากนั้นนักลงทุนคาดว่าจะมีการปรับขึ้นรวมสี่ครั้ง หรืออาจจะห้าครั้ง (หรือมากกว่านั้น!) ในระหว่างปี ต่างจากสมาชิกคณะกรรมการที่คาดการณ์ไว้ที่สามครั้งเมื่อเดือนที่แล้ว
แต่ตลาดจะมองหาคำตอบสำหรับคำถามข้างต้น กล่าวคือ:
ผมไม่คิดว่าจะมีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ในเดือนนี้ พวกเขาจะประกาศล่วงหน้าว่าจะทำอะไรแล้วตัดทางเลือกที่จะยืนกรานไม่เปลี่ยนแปลงหากเกิดสิ่งไม่คาดฝันไปทำไมล่ะ?
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะปรับแก้คำแถลงเพื่อส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม 2004 พวกเขากล่าวว่า “ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและการใช้ทรัพยากรมีความซบเซา ทางคณะกรรมการเชื่อว่าจะสามารถจัดการอำนวยความสะดวกเชิงนโยบายออกไปได้ในอัตราความเร็วที่น่าจะวัดผลได้” จากนั้นพวกเขาก็เริ่มปรับขึ้นในเดือนมิถุนายน (ไม่มีคำใบ้ดังกล่าวก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 2016) ในเดือนกันยายนปีที่แล้วพวกเขากล่าวว่า “หากความคืบหน้ายังคงดำเนินต่อไปในวงกว้างตามที่คาดไว้ ทางคณะกรรมการจะตัดสินว่าการชะลอการซื้อสินทรัพย์อาจได้รับอนุญาตในไม่ช้า” จากนั้นพวกเขาก็เริ่มลดการซื้อพันธบัตรในการประชุมครั้งต่อไป ครั้งนี้พวกเขาอาจแทนที่ประโยค “คณะกรรมการจะเตรียมปรับจุดยืนด้านนโยบายการเงินตามความเหมาะสมหากมีความเสี่ยงเกิดขึ้น…” ด้วยบางอย่างเช่น “หากความคืบหน้าของตลาดแรงงานยังดำเนินต่อไปในวงกว้างตามที่คาดไว้ ทางคณะกรรมการจะตัดสินว่าการอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจได้รับอนุญาตในไม่ช้า” ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะใช้คำว่า “วัดผลได้” ในครั้งนี้เนื่องจากจะถูกใช้เป็นการบ่งชี้ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ผมคิดว่าจุดโฟกัสจะอยู่ที่งานแถลงข่าวของประธานเฟดพาวเวลล์หลังจากนั้นมากกว่าในคำแถลงนี้ ที่ซึ่งเราคาดได้ว่าเขาจะได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แต่เขาไม่น่าจะให้คำมั่นในเรื่องไหนเลย และน่าจะเลือกรักษาความยืดหยุ่นสูงสุดโดยเน้นว่าการประชุมแต่ละครั้งเป็นแบบ “สด” ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะข้ามสะพานแต่ละแห่งเมื่อไปถึงแทนที่จะให้คำมั่นล่วงหน้าถึงความเร็วในการกระชับนโยบายใดๆ
ความเสี่ยงมีอะไรบ้าง: ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะเบนเข็มไปในทิศทางแข็งกร้าวต่อไป คงเป็นเรื่องยากที่จะเห็นพวกเขาแข็งกร้าวเกินหน้าเกินตาตลาด ณ จุดนี้และส่งสัญญาณว่าใช่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยห้าครั้งนั้นสมเหตุสมผล หกครั้งก็เป็นไปได้ ในทางตรงกันข้าม พวกเขาอาจดันกลับราคาในตลาดและพยายามลดความคาดหวังของตลาดในการปรับอัตราดอกเบี้ยให้น้อยลง การทำเช่นนี้อาจทำให้เกิดความกลัวว่าพวกเขา “ตามหลังเส้นโค้ง” และไม่เต็มใจที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในอนาคต หรืออาจทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนแบนราบลงอีกเนื่องจากนักลงทุนคาดว่าในที่สุดเฟดก็จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความผิดพลาดนี้ ในทางกลับกัน เฟดที่ผ่อนคลายเกินกว่าที่คาดไว้อาจได้รับความนิยมในตลาดหุ้น
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประชุม FOMC จะสิ้นสุดลง ธนาคารกลางแคนาดาจะจัดการประชุมนโยบายและเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินฉบับปรับปรุง ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พวกเขากล่าวว่าพวกเขาคาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย “ณ จุดไหนสักแห่งในช่วงกลางปี 2022” ตลาดไม่เชื่อคำพูดนี้เลยสักคำ มีการเก็งราคาไว้ล่วงหน้าด้วยโอกาส 73% ที่จะมีการปรับขึ้นในการประชุมสัปดาห์หน้าและปรับขึ้นอีกครั้งในการประชุมเดือนมีนาคม
เหตุผลที่ธนาคารกล่าวว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงกลางปีเป็นเพราะ “ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอย่างต่อเนื่อง…” พวกเขาต้องคงนโยบายไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง “จนกว่าทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจจะถูกดูดซับ…” แต่ผมสงสัยว่าการสำรวจสภาพธุรกิจของธนาคารกลางแคนาดาในเดือนธันวาคมอาจเปลี่ยนมุมมองของพวกเขาหรือไม่ ดัชนีการกระจายสำหรับบริษัทที่ประสบ “ปัญหาใหญ่” ในการตอบสนองความต้องการทำสถิติสูงสุดที่ 28 ขณะที่บริษัทที่ประสบ “ปัญหาบ้างเล็กน้อย” แตะระดับเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50 ซึ่งหมายความว่าอย่างน้อยบริษัทครึ่งหนึ่งกำลังประสบปัญหาดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน มีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 67% คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่นอกช่วงเป้าหมาย 1%-3% ของธนาคารกลางแคนาดาในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
และความต้องการแรงงานอยู่ในระดับสูงสุดโดยทะลุพ้นไปสูงมากนับตั้งแต่มีการเริ่มทำแบบสำรวจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
ธนาคารกล่าวว่า “กำลังเฝ้าดูการคาดการณ์เงินเฟ้อและต้นทุนแรงงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้แน่ใจว่าพลังที่ผลักดันราคาขึ้นจะไม่ฝังตัวอยู่ในอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง” แต่เมื่อดูผลการสำรวจของ BoC เทียบกับคำกล่าวนั้น ดูเหมือนว่าพวกเขาควรจะเร่งหาทางทำอะไรสักอย่างนะ
กุญแจสำคัญอาจเป็นการที่พวกเขาปรับแก้การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2022 ในรายงานนโยบายการเงินที่แนบมาด้วย
กล่าวโดยสรุป ตลาดกำลังมองหาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางแคนาดาและแนวทางบางอย่างที่ชี้ว่าธนาคารจะกระชับนโยบายได้เร็วแค่ไหน ในปีนี้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึงหกครั้งจริงหรือไม่ในขณะที่ตลาดกำลังคิดคำนวณลดอยู่
นอกจากนี้ BoC ยังประสบปัญหาเดียวกันกับเฟดในด้านงบดุล จริงๆ คือแย่กว่า เนื่องจาก BoC เพิ่มงบดุลเยอะกว่ามาก (4.2 เท่า กับ 2.1 เท่า)
จากแหล่งข่าวของผมในโตรอนโต ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการใดๆ แต่มีแรงกดดันก่อตัวขึ้นรอบด้าน ผู้มีส่วนร่วมในตลาดหลายคนเรียกร้องให้พวกเขาลดงบดุลลงเนื่องจากธนาคารมีจำนวนหุ้นคงค้างทั้งหมดของพันธบัตรรัฐบาลแคนาดาอยู่ 46% โดยรายงานนโยบายการเงินประจำเดือนตุลาคมระบุว่า
เมื่อมองไปข้างหน้า พันธบัตรจำนวนมากที่ถือครองอยู่จะครบกำหนดในปีต่อ ๆ ไป โดยจะกระจุกตัวอยู่ในช่วง 1 ถึง 5 ปีข้างหน้า และระยะเวลาครบกำหนดเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน จากส่วนผสมระหว่างการครบกำหนดจำนวนมากและไม่สม่ำเสมอ การถือครองพันธบัตรรัฐบาลแคนาดาทั้งหมดของธนาคารจะสร้างความผันผวนเล็กน้อยในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า
เรื่องนี้ดูไม่ชัดเจนเท่าไหร่สำหรับผมว่าพวกเขาตั้งใจปล่อยให้งบดุลย้อนกลับไปยังจุดที่เคยเป็นก่อนการแพร่ระบาด หรือพวกเขาพยายามที่จะคงเอาไว้แถวขนาดในปัจจุบัน (ซึ่งค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับในอดีต)
โดยรวมแล้ว การประชุมธนาคารกลางทั้งสองครั้งนี้จะเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมในสัปดาห์หน้าของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA), ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ดัชนีชี้วัดอื่นๆ: PMI เบื้องต้น, GDP ไตรมาสที่ 4 ของสหรัฐและเยอรมนี, PCE แบบปรับเทียบอัตราเงินเฟ้อ, CPI ของออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และโตเกียว
นอกจากการประชุมธนาคารกลางสองครั้งแล้ว ยังมีดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญจำนวนมากที่จะออกมาในระหว่างสัปดาห์อีกด้วย
สัปดาห์นี้เริ่มต้นด้วยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นสำหรับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก โดยตลาดคาดว่าจะเป็นข่าวร้ายเสียส่วนใหญ่ มีเพียง PMI ภาคบริการของสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่คาดว่าจะปรับขึ้น ซึ่งก็ขึ้นแค่เพียง +0.2 ภาคบริการบนแผ่นดินใหญ่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยเนื่องจากทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสได้เข้มงวดในข้อจำกัดเรื่องโควิด-19 ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ฝรั่งเศสเริ่มผ่อนคลายให้เล็กน้อยเมื่อประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อน ส่วนเยอรมนียังยืนยันหนักแน่น ภาคการผลิตของสหรัฐคาดว่าจะปรับลงอย่างรุนแรง โดยอาจจะตามดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์กที่น่าผิดหวังไป (ซึ่งดิ่งลงไปที่ -0.7 จาก 31.9)
PMI ของยูโรโซนที่อ่อนลงอาจสนับสนุนให้ ECB ใช้ท่าที “รอดู” ในการประชุมในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งอาจเป็นผลลบต่อ EUR
ตัวเลข GDP ของสหรัฐและเยอรมันคาดว่าจะให้ผลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง GDP สหรัฐคาดว่าจะปรับขึ้นอย่างแข็งขันที่อัตรา 6.0% qoq SAAR (+1.5% qoq)…
…ในขณะที่ GDP ของเยอรมันคาดว่าจะลดลง 0.1% qoq
สหรัฐฟื้นตัวจากโรคระบาดได้เร็วกว่ามากเมื่อเทียบคู่แข่งรายใหญ่ๆ การเติบโตอย่างเข้มแข็งเพิ่มเติมจากอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในกลุ่ม G10 น่าจะหมายถึงการกระชับนโยบายในระยะเวลาที่ค่อนข้างเร็ว และหมายถึงเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และสหรัฐคาดว่าจะแสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอีก (ยกเว้นในญี่ปุ่นซึ่งเป็นความผิดปกติของโลก) แนวโน้มทั่วโลกนี้น่าจะแสดงให้เห็นถึงการกระชับที่มากยิ่งขึ้น และจะต้องมีคนโมโหแน่ๆ!
CPI ทั่วไปของออสเตรเลียคาดว่าจะปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.2% ซึ่งยังคงอยู่นอกช่วงเป้าหมายของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ที่ 2%-3% ในขณะเดียวกัน มาตรวัดหลักทั้งสองคาดว่าจะอยู่ในช่วงที่เหมาะสมพอดี (ทั้งคู่อยู่ที่ 2.3% yoy) (เป้าหมายเงินเฟ้อในออสเตรเลียนั้นกำหนดโดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งเป็นมาตรวัดหลักที่ใช้ใน “การประเมินแรงกดดันเงินเฟ้อในปัจจุบันและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อใน CPI”)
อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมาย การว่างงานต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดใหญ่ และการจ้างงานสูงขึ้น ทาง RBA จะสามารถโต้แย้งได้นานแค่ไหนว่า “น่าจะใช้เวลาพอสมควร” ก่อนที่อัตราเงินเฟ้อจะ “ทรงตัวอยู่ในช่วงเป้าหมาย 2 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์” ส่งผลบวกต่อ AUD
CPI ของนิวซีแลนด์คาดว่าจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว (5.8% yoy เทียบกับ 4.9%) นี่เกือบจะเป็นสองเท่าของขอบบนของช่วงเป้าหมาย 1%-3% ของพวกเขาเลย
มีการคาดเดากันไปมากมายในช่วงนี้ (อย่างน้อยก็มีผมที่คาดเดาไปมากมายในช่วงนี้) ว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะระอุขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากราคาวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้น 68% yoy อย่างไรก็ตาม CPI ทั่วประเทศของญี่ปุ่นในวันศุกร์ส่งสัญญาณเพียงเล็กน้อย โดย CPI ทั่วไปเพิ่มขึ้นเพียง +0.8% yoy จาก +0.6% ขณะที่มาตรวัดเงินเฟ้อแบบ “หลักของหลัก” ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน กลับร่วงลงไปทางภาวะเงินฝืดอย่างมาก (-0.7% yoy เทียบกับ -0.6%)
ผมควรหมายเหตุไว้ว่า อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะถูกกดไว้โดยโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่กดราคาที่พักและค่าโทรศัพท์มือถือเอาไว้ แคมเปญ “Go To Travel” ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับค่าโรงแรมช่วงการระบาดใหญ่ ลดราคาค่าที่พักช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2020 ซึ่งนั่นช่วยดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในปีต่อมาเมื่อเทียบแบบ yoy เมื่อผลนี้หายไปก็พลิกกลับด้านทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงในปีหลังจากนั้น (กล่าวตือ เริ่มจากตัวเลขเดือนมกราคม 2022 ในสัปดาห์หน้า) ขณะเดียวกันรัฐบาลได้กดดันให้บริษัทโทรศัพท์มือถือลดค่าใช้งานในเดือนเมษายนปีที่แล้ว และประสิทธิผลจะหายไปจากการคำนวณแบบ yoy ในเดือนเมษายนปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าหากไม่มีปัจจัยทั้งสองนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ประมาณ 1.6% yoy ซึ่งนั่นอาจเป็นการประมาณการแรงกดดันเงินเฟ้อที่แท้จริงได้แม่นยำกว่า แม้จะยังต่ำกว่าในประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่ภาวะเงินฝืดแล้ว
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่เผยแพร่นั้นรวมค่าโรงแรมและค่าโทรศัพท์มือถือแล้ว ดังนั้น ข้อมูลสำหรับคาดการณ์ CPI ของโตเกียวในวันศุกร์หน้าจึงไม่ค่อยเพียงพอ มาตรวัดทั้งหมดคาดว่าจะแสดงอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าของเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะมาตรวัด “หลักของหลัก” (ไม่แสดง) คาดว่าจะร่วงลงไปที่ -0.7% yoy จาก -0.3% ผมคิดว่าเราน่าจะผละออกจากความคิดที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มปรับนโยบายให้เป็นปกติในเร็วๆ นี้ได้แล้ว แต่ภาพนี้อาจเปลี่ยนไปเมื่อค่าโทรศัพท์มือถือที่ลดลงหายไปจากการเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน
สุดท้าย ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐแบบปรับเทียบอัตราเงินเฟ้อจะออกมาในวันศุกร์นี้ ดัชนีเหล่านี้ และไม่ใช่ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากกว่า คือมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดเลือกใช้ พวกเขาเปลี่ยนกลับมาใช้ในปี 2000 ถึงกระนั้น ตลาดก็ยังคงให้ความสำคัญกับ CPI มากกว่า และผมก็แปลกใจที่ได้ยินเจ้าหน้าที่ของเฟดบางคนอ้างถึง CPI เช่นกัน แม้ว่าเฟดจะเตรียมการคาดการณ์ทั้งหมดจาก PCE แบบปรับเทียบอัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่จาก CPI
ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เรื่องราวที่เราได้เรียนรู้จาก PCE แบบปรับเทียบอัตราเงินเฟ้อนั้นคาดว่าจะเหมือนกับเรื่องราวที่เราได้เรียนรู้จาก CPI นั่นคืออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น นักลงทุนอาจได้รับการปลอบขวัญจากความจริงที่ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นคาดว่าจะช้าลง แต่ตราบใดที่ทิศทางยังคงชี้ขึ้น เฟดก็ไม่มีอารมณ์ที่จะหยุดเหยียบเบรกแน่นอน
ข้อมูลอื่นๆ ของสหรัฐที่จะออกมาในช่วงระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ Conference Board (วันอังคาร), สินค้าคงทน (วันพฤหัสบดี) และรายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคล (วันศุกร์)