คาดหวังไว้สูง

Google+ Pinterest LinkedIn Tumblr +

เราได้ยินจากธนาคารกลางสามแห่งในสัปดาห์นี้ไปแล้ว: ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ), ธนาคารกลางแคนาดา (BoC) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) สองรายแรกปรับขึ้น 50 จุด ส่วนรายหลังก็รักษาอัตราให้คงที่ ทั้งสามเตือนในสิ่งเดียวกัน: ความเสี่ยงที่ผู้คนเริ่มคิดว่าเงินเฟ้อระดับสูงในปัจจุบันจะคงอยู่ไปอีกเป็นเวลานาน พวกเขากล่าวดังนี้:

RBNZ:  คณะกรรมการจะยังคงมุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อของดัชนีราคาผู้บริโภคที่สูงในปัจจุบันจะไม่ฝังรากลึกในการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาว

BoC:  มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ความคาดหวังของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจกลายเป็นรากฐานที่มั่น ธนาคารจะใช้เครื่องมือนโยบายการเงินเพื่อคืนอัตราเงินเฟ้อให้กลับไปเป็นตามเป้าหมายและรักษาระดับเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ให้อยู่ภายในการควบคุม

ECB:  ในขณะที่มาตรการต่างๆ ของการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวที่ได้มาจากตลาดการเงินและจากการสำรวจของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 สัญญาณเริ่มต้นของการปรับแก้ที่สูงกว่าเป้าหมายในมาตรการเหล่านั้นทำให้ต้องมีการเฝ้าสังเกตอย่างใกล้ชิด

นั่นเป็นความจริง การคาดการณ์เงินเฟ้อในโซนสกุลเงินทั้งสามนั้นปรับสูงขึ้นจริงๆ

ทำไมพวกเขาถึงกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้นัก? นั่นเพราะนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าหากผู้คนเริ่มคิดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในอนาคต พวกเขาจะเรียกร้องค่าแรงที่สูงขึ้นเพื่อเป็นการชดเชย จากนั้นบริษัทต่างๆ จะขึ้นราคาเพื่อให้ครอบคลุมค่าแรงที่สูงขึ้น และความกลัวจะกลายเป็นจริง นั่นคือราคาจะสูงขึ้นเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงมากขึ้นในรอบการเจรจาครั้งต่อไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความกลัวคือการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้เกิดการวิ่งไล่ตามกันของค่าจ้าง/ราคาที่ทำให้ควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ยาก นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังกังวลว่าหากบริษัทต่างๆ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูง พวกเขาก็มักจะขึ้นราคาต่อไปเพื่อจะได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการทดแทนสินค้าคงคลัง หรือแม้แต่การฉวยโอกาสจากการปรับราคาขึ้นโดยทั่วไปเพื่อขึ้นราคาด้วย (การปรับขึ้นราคาแบบ “ฉันด้วย”)

คำถามก็คือ มีมูลฐานใดๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงสำหรับทฤษฎีเหล่านี้หรือไม่? นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนตอบว่าไม่ บทความล่าสุดโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานให้กับ Board of Governors of Federal Reserve (เหตุใดเราจึงคิดว่าการคาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อจึงมีความสำคัญต่อภาวะเงินเฟ้อ? (และควรเป็นเช่นนั้นหรือไม่?)) แย้งว่า “ประวัติศาสตร์บอกเราแค่เพียงว่าความล่าช้าของอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงดูเหมือนจะเข้าสู่สมการเงินเฟ้อมากขึ้นหรือน้อยลงในระดับหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่การคาดการณ์จะทำหรือทำไปแล้ว การคิดว่าอัตราเงินเฟ้อที่ล่าช้าเหล่านี้ปรากฏขึ้นเนื่องมาจากการเป็นตัวแทนของการคาดการณ์บางอย่างเป็นเพียงแค่นิสัยของจิตใจมากกว่าที่จะเป็นสิ่งใด ๆ ที่มีเหตุผลอย่างแท้จริง” เขาสรุปว่า “…เราไม่มีอะไรดีไปกว่าหลักฐานเชิงสถานการณ์สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ในระยะยาว กับแนวโน้มระยะยาวของอัตราเงินเฟ้อ และไม่มีหลักฐานใดเลยเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจำเป็นต่อการรักษาแนวโน้มนั้นให้คงที่…”

บทความล่าสุดที่จัดทำขึ้นสำหรับคณะกรรมการเศรษฐกิจและการเงินของรัฐสภายุโรป (คณะกรรมการ ECON) (ECB ควรกังวลกับการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นหรือไม่?) ก็เห็นด้วย โดยแย้งว่า “มีหลักฐานแค่จำนวนหนึ่งที่การสำรวจมาตรการเงินเฟ้อนั้นเป็นประโยชน์ต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ” บทความกล่าวว่า “กลไกการต่อรองค่าจ้างแบบดั้งเดิมซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ควรเพิ่มอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอในโลกที่มีสหภาพแรงงานน้อย” นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า “ความพยายามของธนาคารกลางในการโน้มน้าวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนอาจมีประโยชน์แค่เพียงเล็กน้อย คนส่วนใหญ่ไม่สนใจธนาคารกลาง และหลายคนมีความคิดเห็นที่ไม่เป็นประโยชน์นักเกี่ยวกับเงินเฟ้อ”

ข้อสรุปที่คล้ายกันจากบทความอื่นในชุดนั้น (สิ่งที่คาดหวังจากการคาดการณ์เงินเฟ้อ: ทฤษฎี เชิงประจักษ์ และประเด็นด้านนโยบาย) บทความกล่าวว่า “ภาพรวมของการศึกษาเชิงทฤษฎีและเชิงประจักษ์มีเงาทอดยาวกว่าที่มักจะเชื่อ” “สันนิษฐานว่าข้อมูลเกี่ยวกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตจะต้องได้รับการประเมินและประมวลผลอย่างรอบคอบพร้อมกับข้อมูลอื่นๆ… คำเตือนแนะนำว่าไม่ควรให้บทบาทเป็นดั่งดาวเหนือในนโยบายการเงิน”

กล่าวโดยสรุป ธนาคารกลางดูเหมือนจะให้ความสำคัญอย่างมากกับบางสิ่งที่อาจไม่ได้มีความสำคัญเป็นพิเศษจริงๆ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยนำและความล่าช้าในการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อและมุมมองของผู้คนที่เหนียวแน่นเมื่อจัดทำขึ้นแล้ว นี่อาจทำให้ธนาคารกลางทำผิดพลาดด้านนโยบายในด้านขาขึ้นและทำให้เศรษฐกิจตกต่ำเข้าสู่ภาวะถดถอยเพื่อขจัดบางสิ่งที่ไม่ได้มีความสำคัญออกไป

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับผมนั้นดูเหมือนจะเป็นหน้าที่ของราคาน้ำมันเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมจึงสงสัยว่าทำไมถึงทำเหมือนมันเป็นเรื่องใหญ่โตนัก

สิ่งหนึ่งที่อาจช่วยผลักดันอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่การตั้งค่าจ้างที่สูงตามที่ทฤษฎี “การคาดการณ์เงินเฟ้อ” ได้คาดการณ์ไว้ แต่เป็นความโลภของบริษัท หากเราดูบริษัทต่างๆ ในดัชนี S&P 500 และ Dow Jones Industrial Average อัตราส่วนกำไรของบริษัทเหล่านั้นสูงที่สุดในรอบอย่างน้อย 32 ปี (ผมไม่มีข้อมูลก่อนหน้านั้น)

หากเราพิจารณาผลกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP ในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ตัวเลขเหล่านั้นทำสถิติเท่ากับในไตรมาส 1 ปี 2012 ที่ 12.6% ซึ่งแพ้ให้กับไตรมาส 4 ปี 1950 (13.1%) แค่เพียงครั้งเดียว ดังนั้นผมเดาว่าความโลภของบริษัทเป็นปัจจัยที่ใหญ่กว่าในระดับเงินเฟ้อที่สูงในปัจจุบัน มากกว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นที่เร่งการวิ่งไล่ตามกันของค่าจ้าง/ราคา ผมคอยอย่างใจจดใจจ่อรอฟังคำตักเตือนจากแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษต่อบริษัทต่างๆ ให้ “ยับยั้งชั่งใจ” ในผลกำไรของพวกเขา เช่นเดียวกับที่เขากระตุ้นให้คนงาน “ยับยั้งชั่งใจ” ในการตั้งค่าจ้างเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันต่อเงินเฟ้อขาขึ้น (ผมต้องขอยอมรับว่าผมไม่มีข้อมูลเดียวกันสำหรับสหราชอาณาจักร ดังนั้นผมจึงไม่แน่ใจว่าจะใช้กับประเทศนี้ได้หรือไม่)

.

สัปดาห์หน้า: ข้อมูลเงินเฟ้อเพิ่มเติม, PMI เบื้องต้น, การประชุมช่วงกลางปีของ IMF/ธนาคารโลก

 

สัปดาห์นี้เริ่มต้นอย่างช้าๆ เนื่องจากวันจันทร์เป็นวันหยุด (วันอีสเตอร์) ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และส่วนใหญ่ของยุโรปตะวันตก แต่ไม่ใช่สำหรับสหรัฐ

สำหรับผู้ที่กำลังสงสัยเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งน่าจะเป็นทุกคนที่คิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน จะมีข้อมูลมากมายที่น่าจับตามองในสัปดาห์หน้า เราจะมีดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จากแคนาดา (วันพุธ) นิวซีแลนด์ (วันพฤหัสบดี) และญี่ปุ่น (วันศุกร์) บวกกับดัชนีราคาราคาผู้ผลิตจากเยอรมนีในวันพุธ และ CPI สุดท้ายของเดือนมีนาคมสำหรับสหภาพยุโรปในวันพฤหัสบดี

จะมีใครแปลกใจไหมถ้าแนวโน้มโดยทั่วไปคืออัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในประเทศเหล่านี้?

นิวซีแลนด์: เนื่องจากนิวซีแลนด์มีข้อมูลเงินเฟ้อแค่แบบรายไตรมาสเท่านั้น มันจึงมีความสำคัญมากกว่าที่อื่น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็น 7.1% yoy เทียบกับ 5.9%

แคนาดา: CPI ทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% yoy จาก 5.7% เป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีอัตราเงินเฟ้อ 1% mom โอย!

ญี่ปุ่น:  แม้แต่ญี่ปุ่นเองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นค่าผิดปกติตลอดกาลก็ถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2% yoy เป็นครั้งแรกที่เกิน 1% นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) คาดว่าจะยังคงอยู่ในภาวะเงินฝืดที่ -0.8% yoy เราทุกคนต้องรอจนถึงเดือนหน้า เมื่อการดิ่งลงของค่าโทรศัพท์มือถือเมื่อปีที่แล้วหลุดออกจากการคำนวณ เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะเกิน 2% ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเรื่องนี้? รับชมพร้อมกัน 19 พ.ค. นี้!

ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนี (PPI) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าประหลาดใจที่ 30% yoy Ach du Lieber Güte! แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะพลังงาน แต่ถึงกระนั้น…พวกโนมส์ที่ Bundesbank จะต้องโกรธจนชักดิ้นชักงอเป็นแน่

สำหรับสหรัฐ ตัวชี้วัดหลักอื่นๆ จะเป็นสถิติการเคหะ ได้แก่ ยอดเริ่มสร้างบ้าน (อ.) และยอดขายบ้านที่มีอยู่เดิม (พ.) เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะได้เห็นว่าการปรับขึ้นของอัตราการจำนองส่งผลกระทบต่อตลาดการเคหะอย่างไร หากประวัติศาสตร์พอจะเป็นแนวทางได้บ้าง การเคหะควรจะชะลอลงเนื่องจากอัตราการจำนองเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ นี่เป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่เฟดใช้เพื่อช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ กล่าวคือโดยอุปสงค์ที่ลดลง

สำหรับสหราชอาณาจักร ตัวชี้วัดหลักในช่วงระหว่างสัปดาห์จะเป็นดัชนียอดขายปลีกในวันศุกร์ โดยคาดว่าน่าจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันทั้งแบบที่รวมและไม่รวมน้ำมัน ซึ่งฟังดูน่าทึ่งมากเมื่อคิดว่าราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นไป 8.8% ในเดือนนั้น คุณอาจคิดว่าดัชนีนี้เพียงอย่างเดียวก็สามารถผลักให้ยอดขายขึ้นไปสู่แดนบวกได้แล้ว ถึงกระนั้นก็ยังคงเป็นอัตราเงินเฟ้อและนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษที่ขับเคลื่อนค่าเงินปอนด์ ไม่ใช่เศรษฐกิจทั่วไป

ที่อาจสำคัญไปกว่านั้น คือรัฐสภาจะกลับเข้าสู่ช่วงการประชุม และจะมีการแสดงความคิดเห็นรูปแบบเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันกับรัฐมนตรีริชี “เมียผมไม่ได้อยู่ที่นี่” ซูนัคที่ถูกปรับเงินจากการจัดงานปาร์ตี้ในช่วงล็อกดาวน์ ตอนนี้บอริส จอห์นสันได้รับเกลียดติยศในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถูกลงโทษฐานละเมิดกฎหมาย

จนถึงตอนนี้ ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยม 70 คนและคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ปกป้องเขาดั่งเป็นทาส ขณะที่มี ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยมเพียงคนเดียว ที่เรียกร้องให้บอริสลาออก นายกรัฐมนตรีสามารถถูกถอดออกได้ด้วยการลงคะแนนไม่ไว้วางใจในรัฐสภาหรือโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขาเองที่จัดการการเลือกตั้งผู้นำ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในขณะนี้ทั้งสองกรณี เพราะใครกันจะต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่หากพวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นสิ่งนี้น่าจะจบลงถึงแม้ว่า ดูเหมือนว่าเขาจะถูกปรับเงินในอีกสามเหตุการณ์ ให้ลองดูว่าเคยเกิดอะไรขึ้นกับการที่ทรัมป์ถูกฟ้องร้องสองครั้ง ต้องถึงขั้นมีการเลือกตั้งถึงจะขับไล่เขาได้

นอกจากนี้ในวันศุกร์เราจะได้เห็นดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นสำหรับประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ โดยมีการคาดกันว่าจะปรับลงทั่วทั้งกระดาน สิ่งเดียวที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นคือ PMI ภาคบริการของสหรัฐ และถึงกระนั้นก็คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นน้อยนิดเพียง 0.1 จุด

ผมงงว่าทำไมภาคบริการถึงถูกคาดว่าจะปรับลงหนักขนาดนั้น ประเทศที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่คลายข้อจำกัดของตนแล้ว ดังนั้นจึงอาจนึกภาพได้ว่าผู้คนจำนวนมากขึ้นที่จะออกไปร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงยิม ฯลฯ

จากนั้น วันอังคารถึงวันเสาร์จะมีการประชุมช่วงกลางปีของ IMF และธนาคารโลก คุณสามารถดูการประชุมและกิจกรรมต่างๆ แบบถ่ายทอดสดได้บนเว็บไซต์ของพวกเขา งานใหญ่จะจัดขึ้นในวันศุกร์เวลา 17:00 น. GMT เมื่อพาวเวลล์ ประธานเฟด, ประธาน ECB ลาการ์ด และอีกสามคนที่คุณอาจไม่เคยได้ยินชื่ออภิปรายเรื่องเศรษฐกิจโลก นอกจากการประชุม IMF/ธนาคารโลกแล้ว สถาบัน Peterson Institute for International Economics (PIIE) ยังได้จัดงาน “Macro Week 2022” ด้วย กิจกรรมเหล่านี้จะมีโทมัส จอร์แดน ประธานธนาคารกลางสวิส (อ.), แอนดรูว์ เบลีย์ ประธานธนาคารกลางอังกฤษ (พฤ.) และคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB (ศ.) กิจกรรมทั้งหมดจะถ่ายทอดสดทางเว็บบนเพจที่ผมแปะลิงก์ไว้ให้ อย่าลืมรับชม ไม่อย่างนั้นจะคุยกับคนอื่นเขาไม่รู้เรื่อง!

ประเด็นอื่นๆ ที่น่าจับตามองในสัปดาห์หน้าคือสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีน ซึ่งมีเคสผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ดูเหมือนว่าจะควบคุมได้แล้ว สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเนื่องจากคนขับรถบรรทุกและคนงานในอู่ต่อเรือถูกบังคับให้อยู่บ้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าโลก

สุดท้ายนี้ ตลาดหุ้นจะต้องคอยดูผลประกอบการจากบริษัทชั้นนำต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เช่น American Express, Netflix, Tesla และ Procter & Gamble

Share.
คำเตือนความเสี่ยง: การเทรดฟอเร็กซ์/CFD และตราสารอนุพันธ์อื่นๆ นั้นมีการเก็งกำไรสูงและมีความเสี่ยงสูง การเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทั่วไป