อัตราเงินเฟ้อถึงจุดสูงสุดแล้วหรือยัง? จุดเดียวอาจยังสร้างเทรนด์ไม่ได้ แต่สองจุดก็ไม่แน่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) แตะจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ 8.5% yoy เดือนเมษายนอยู่ที่ 8.3% yoy ตัวเลขเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะออกมาในวันศุกร์หน้า คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 8.2% yoy การเปลี่ยนแปลงในระดับไม่ได้เยอะนัก แต่เป็นเรื่องของทิศทางที่มีความสำคัญ เราอาจเห็นยอดของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐไปแล้ว
น่าเสียดายที่มันอาจจะไม่ง่ายอย่างนั้น หากเราดูการเปลี่ยนแปลงแบบสามเดือนที่คำนวณเป็นอัตรารายปี เพื่อจับเฉพาะการเปลี่ยนแปลงล่าสุดของราคาที่ไม่มีผลกระทบจากปัจจัยพื้นฐาน อัตราหลักอยู่ที่จุดสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์และเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราทั่วไปก็สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
น่าเสียดายที่แม้ว่า CPI จะถึงจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ก็อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่จะลดลงมาใกล้กับอัตราเป้าหมายของเฟด เฟดเมืองแอตแลนตาแบ่งองค์ประกอบของ CPI ออกเป็นแบบ “ยืดหยุ่น” โดยแบ่งเป็นรายการที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาบ่อยๆ เช่น น้ำมันเบนซินหรือตั๋วเครื่องบิน กับราคาที่ “เหนียวหนืด” เช่น เมนูร้านอาหารและเครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญที่เปลี่ยนราคาไม่บ่อยนัก สิ่งที่พวกเขาพบคือการเพิ่มขึ้นของราคาที่ “ยืดหยุ่น” เริ่มชะลอตัวลง แต่ราคาที่ “เหนียวหนืด” กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยมีมา ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ราคาที่ “เหนียวหนืด” ก็ยังเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าของเป้าหมายประจำปีที่ 2% ของเฟด
หากเราดูการเปลี่ยนแปลงของราคาแบบ 1 เดือนที่คำนวณเป็นอัตรารายปี เราจะเห็นว่าราคาที่ “ยืดหยุ่น” ลดลงในเดือนเมษายน ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจึงชะลอตัวลง แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือราคาที่ “เหนียวหนืด” ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะถึงจุดสูงสุดไปแล้ว แต่กลับมาปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
เหตุใดจึงมีความสำคัญ? เฟดเมืองแอตแลนตาอธิบายว่า:
แม้ว่าราคาที่เหนียวหนืดอาจไม่ตอบสนองต่อสภาวะเศรษฐกิจเท่ากับราคาที่ยืดหยุ่น แต่ก็อาจทำหน้าที่ได้ดีกว่าในการรวมการคาดการณ์เงินเฟ้อเข้าด้วยกัน เนื่องจากผู้กำหนดราคาเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงราคาจะส่งผลกระทบอย่างมาก พวกเขาจึงต้องการให้การตัดสินใจด้านราคาช่วยชดเชยเงินเฟ้อในช่วงเวลาระหว่างการเปลี่ยนแปลงราคาที่ไม่บ่อยนัก… องค์ประกอบดังกล่าวอาจมีประโยชน์เมื่อพยายามแยกแยะว่าเงินเฟ้อกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด
ในกรณีนั้น ความจริงที่ว่าราคาที่เหนียวหนืดปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าของเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดและอัตราการปรับเพิ่มกำลังเพิ่มขึ้นนั้นชี้ให้เห็นว่าเราไม่สามารถคาดหวังให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็วได้
ในส่วนของเฟดเมืองซานฟรานซิสโกนั้น พวกเขาได้ทำการชำแหละดัชนีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนพื้นฐาน (PCE) แบบปรับเทียบอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดเลือกใช้ ออกเป็นส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดใหญ่กับส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบ (แยกความแตกต่างระหว่างทั้งสองโดยการดูว่าองค์ประกอบใดที่ราคาเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในช่วงเวลาที่การระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้น) สิ่งที่พวกเขาพบก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน จริงอยู่ที่การปรับขึ้นอย่างท่วมท้นของอัตราเงินเฟ้อเป็นผลมาจากองค์ประกอบที่อ่อนไหวต่อการระบาดใหญ่ ซึ่งหมายความว่าเมื่อผลกระทบของการแพร่ระบาดค่อยๆ หายไป (เราหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น!) ราคาที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ก็ควรที่จะชะลอตัวลงและอาจพลิกกลับได้ ซึ่งตามที่ดูก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้นในตัวอย่างของรถมือสอง
ส่วนที่น่ากังวลก็คือ แม้แต่สิ่งที่ไม่ได้อ่อนไหวต่อโควิดก็ยังมีราคาสูงขึ้นเหนือ 3% yoy เล็กน้อย หมายความว่าอัตราเงินเฟ้อ “ทะลักล้น” ออกจากองค์ประกอบที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ อัตราเงินเฟ้อได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว
แต่ก็ยังพอมีหวังอยู่บ้าง ผมสังเกตเห็นว่าในการสรุปรายได้เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ค้าปลีกหลายรายได้กล่าวถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากของสินค้าคงคลัง ตัวอย่างเช่น Walmart ที่รายงานว่ามีสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น 32% yoy สมมติว่าผู้ค้าปลีกเริ่มดำเนินการลดราคาเพื่อลดสินค้าคงเหลือส่วนเกินเหล่านี้ เราอาจได้เห็นราคาสินค้าลดลงอย่างรวดเร็ว
มีดัชนีชี้วัดที่สำคัญอื่นๆ ของสหรัฐออกมาเพียงไม่กี่ตัวในช่วงสัปดาห์นี้ โดยตัวหลักๆ คือดุลการค้า (อ.), สินค้าคงคลังแบบขายส่ง (พ.) และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของ University of Michigan (ศ.)
งานอีเว้นท์หลัก: การประชุมของ RBA และ ECB
จะมีการประชุมธนาคารกลางสองครั้งในสัปดาห์หน้า: ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ในวันอังคาร และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดี
เราคาดว่า RBA จะปรับขึ้น 40 จุด ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นในระดับปกติที่ 0.75% ซึ่งจะช่วยคลี่คลายมาตรการลดฉุกเฉินที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดการระบาดได้โดยสิ้นเชิง
แต่ฉันทามติยังไม่เป็นเอกฉันท์ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 25 จุดเป็น 0.60% และบางรายคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นถึง 50 จุดเป็น 0.85%
การอภิปรายมีศูนย์กลางอยู่ที่ความคิดเห็นของนายโลว์ผู้ว่าการ RBA หลังการประชุมในเดือนพฤษภาคม เมื่อเขากล่าวถึงกระบวนการของนโยบายการกลับไปสู่ “ธุรกิจตามปกติ” บางคนอนุมานจากที่ว่า RBA จะขยับตามปกติที่ 25 จุดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหนึ่งครั้ง รายงานการประชุมเดือนพฤษภาคมระบุว่าพวเขาพิจารณาถึงการปรับขึ้น 15 จุด, 25 จุด และ 40 จุด แต่ตัดสินใจเลือก 25 จุดเพราะว่า “การขยับในขนาดนี้จะช่วยส่งสัญญาณว่าขณะนี้คณะกรรมการกำลังกลับสู่ขั้นตอนการดำเนินงานตามปกติหลังช่วงวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่”
แต่รายงานการประชุมยังระบุด้วยว่ากรณีที่มีการปรับขึ้น 40 จุด “สามารถทำได้หากมีความเสี่ยงด้านบวกในเงินเฟ้อและมีอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำมาก” กรณีนี้ยังคงใช้ได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าข้อมูลค่าจ้างของไตรมาส 1 (ทั้งดัชนีราคาค่าจ้างและรายได้เฉลี่ยในบัญชีประชาชาติ) จะค่อนข้างอ่อน แต่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในไตรมาส 1 ได้ปล่อยทิ้ง RBA ไว้เบื้องหลัง อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เคยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อมากขนาดนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงติดลบอย่างมาก ซึ่งเป็นนโยบายกระตุ้นที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ราคาขายส่งก๊าซและไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้จะช่วยเสริมมุมมองนี้ให้หนักแน่นขึ้นอีกเนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเพิ่มตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ขึ้นอีกประมาณครึ่งเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าการคาดการณ์ในแถลงการณ์นโยบายการเงินประจำเดือนพฤษภาคมสำหรับอัตราเงินเฟ้อที่จะจบลงที่ 5.9% ตอนนี้มีแนวโน้มที่จะใกล้กับ 6.5% มากกว่า
สำหรับ ECB ผลการประชุมของธนาคารกลางไม่เคยส่งสัญญาณบอกล่วงหน้าได้ดีเท่านี้มาก่อน เจ้าหน้าที่ ECB หลายคนกล่าวว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะหยุดการซื้อพันธบัตรเพื่อการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมเดือนมิถุนายน และจากนั้นจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ (23 พฤษภาคม) ในบล็อกโพสต์เรื่อง การปรับนโยบายการเงินเพื่อให้กลับสู่สภาวะปกติในเขตยูโร ว่า “ดิฉันคาดว่าการซื้อสุทธิภายใต้โครงการจัดซื้อสินทรัพย์จะสิ้นสุดในช่วงต้นของไตรมาสสาม นี่จะทำให้เราสามารถเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในการประชุมของเราในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางนโยบายของเรา จากแนวโน้มในปัจจุบัน เราน่าจะอยู่ในตำแหน่งที่จะออกจากอัตราดอกเบี้ยติดลบได้ภายในช่วงสิ้นไตรมาสที่สาม” จะให้ชัดเจนมากไปกว่านี้คงยากแล้วล่ะ
ดังนั้น สิ่งสำคัญในสัปดาห์หน้าคือการยืนยันว่าการซื้อสุทธิภายใต้โครงการซื้อสินทรัพย์ (APP) จะสิ้นสุดในปลายเดือนมิถุนายน และเปิดให้ “เริ่มทะยานขึ้น” ในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้เรายังต้องคอยดูการคาดการณ์ใหม่จากเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งน่าจะแสดงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 2% ในปี 2024 เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงนโยบาย
หนึ่งในข้อโต้เถียงคือจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วแค่ไหนหลังจากที่พวกเขาเริ่มปรับขึ้น คริสติน ลาการ์ดและเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดของเธอบางคน เช่น ฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ได้เน้นย้ำว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะ “ค่อยเป็นค่อยไป” ซึ่งเป็นรหัสลับสำหรับ 25 จุด อย่างไรก็ตาม สมาชิกคณะมนตรีบริหารหลายคนกระวนกระวายใจกับการปรับขึ้น 50 จุด ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ ECB จะอยู่ที่ +0.60% ภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากจะมีการประชุมอีกเพียงสี่ครั้งหลังจากการประชุมครั้งนี้ (กรกฎาคม กันยายน ตุลาคม และธันวาคม) นั่นบ่งบอกถึงการปรับขึ้นมากกว่า 25 จุดจากหนึ่งในนั้น
นี่อาจเป็นวัฏจักรการปรับขึ้นที่ค่อนข้างปกติสำหรับ ECB (หรือในรุ่นก่อนอย่าง Bundesbank)
เราจะต้องดูด้วยว่าพวกเขากำหนดแนวทางนโยบายใหม่อย่างไร โดยในตอนนี้ขึ้นอยู่กับสามเงื่อนไขในการทะยานขึ้น ได้แก่:
- “อัตราเงินเฟ้อสูงแตะ 2% ก่อนสิ้นสุดจุดคาดการณ์ของเราพอสมควร”
- อัตราเงินเฟ้อ 2% “คงอยู่ตลอดช่วงที่เหลือของจุดคาดการณ์” และ
- “ความก้าวหน้าของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวที่ 2% ในระยะกลาง”
แน่นอนว่าเมื่อครบตามเงื่อนไขเหล่านี้แล้วและวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นขึ้น พวกเขาจะต้องมีแนวทางชุดใหม่เพื่อให้ผู้คนล่วงรู้ว่าพวกเขาจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วแค่ไหน แนวทางเหล่านี้น่าจะเป็นไปตามโครงร่างที่กำหนดโดยประธานลาการ์ดในบล็อกโพสต์ที่กล่าวถึงข้างต้น มันยากที่จะสรุปสิ่งที่เธอพูดในนั้นเพราะเธอจงใจให้มันคลุมเครือ เนื่องจากความไม่แน่นอนจำนวนมากที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เธอแทบจะทำอย่างอื่นไม่ได้เลย
หากเราเห็นอัตราเงินเฟ้อคงที่ที่ 2% ในระยะกลาง การปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นปกติแบบก้าวหน้าต่อไปในอัตราที่เป็นกลางก็จะเป็นเรื่องเหมาะสม แต่ความเร็วของการปรับนโยบายและจุดสิ้นสุด จะขึ้นอยู่กับว่าแรงกระแทกเป็นอย่างไร และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อระยะกลางจะพัฒนาไปอย่างไรเมื่อเราดำเนินต่อไปข้างหน้า
แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอน: เธอจะเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกในเรื่องของ “ทางเลือก การค่อยเป็นค่อยไป และความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน”
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น: หากประธานลาการ์ดต้านการปรับขึ้นที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะมากกว่า 25 จุดต่อการประชุม เราอาจเห็นค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังจากนั้น ในทางกลับกัน หากเธอยืนยันสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้โดยคงความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้น 50 จุด (หรือปรับขึ้นมากกว่า 25 จุดเป็นอย่างน้อย) ตลาดก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มคำนวณลดการกระชับมากยิ่งขึ้น และ EUR ก็มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น โดยผมคาดว่าจะเป็นแบบแรก: ผมคิดว่าเธอจะต้านการคาดการณ์ของตลาดและอาจส่งผลให้ EUR อ่อนค่าลงหลังจากนั้น
ดัชนีชี้วัดอื่นๆ:
สำหรับสหภาพยุโรป ดัชนีชี้วัดสำคัญจะเป็นคำสั่งซื้อต่อโรงงานของเยอรมนี (อ.) และการผลิตภาคอุตสาหกรรม (พ.) โดยคาดว่าทั้งสองดัชนีจะลดลงเมื่อเทียบปีต่อปี และคาดว่าคำสั่งซื้อจะลดลงเมื่อเทียบแบบเดือนต่อเดือนด้วย เห็นได้ชัดว่าการส่งออกของเยอรมนียังคงประสบปัญหา
มีไม่กี่รายการในกำหนดการสำหรับอังกฤษในสัปดาห์หน้า จุดสนใจเพียงจุดเดียว (นอกเหนือไปจากเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองตามปกติ) ก็คือแบบสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อของธนาคารกลางอังกฤษ/TNS นายธนาคารกลางอยู่กันอย่างครั่นคร้ามว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อจะกลายเป็น “ไม่ยึดติด” นั่นคือ ถ้าผู้คนคิดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง พวกเขาจะดำเนินการตามนั้น (นึกถึงสิ่งที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าการเปลี่ยนแปลงของ “ราคาที่เหนียวหนืด” นั้นให้ข้อมูลว่าผู้คนคิดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเป็นอย่างไรในอนาคต ถ้าพวกเขาคิดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะสูง เมื่อพวกเขาทำการปรับราคา พวกเขาก็จะปรับขึ้นตามนั้น) สิ่งที่เป็นอันตรายสำหรับธนาคารไม่ใช่แค่การคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในอีกหนึ่งปีต่อจากนี้จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เป็นการคาดการณ์เงินเฟ้อในอีกสองปีต่อจากนี้ (ที่จริงแล้วคือ สำหรับปีที่เริ่มต้นนับจากนี้ไปอีกหนึ่งปี หรือ 1 ปี/1 ปีข้างหน้า) หรือสิ่งที่พวกเขาคิดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในอีกห้าปีน่าจะเป็นอย่างไร จากตัวเลขล่าสุด สองข้อหลังอยู่นอกขอบเขตการอดทนของธนาคารที่ 1%-3% (อยู่ที่ 3.2% และ 3.3% ตามลำดับ) หากพวกมันไต่ขึ้นไปอีก ธนาคารอาจเริ่มคิดว่าตนเองสูญเสียการควบคุมเงินเฟ้อไปแล้วและจะต้องกระชับให้เร็วขึ้น
ญี่ปุ่นเผยแพร่บัญชีเดินสะพัดในวันพุธและ Corporate Goods Price Index (CPGI) (หรือที่เรียกว่า ราคาผู้ผลิต) ในวันศุกร์ CGPI คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เกิดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อหรืออัตราส่วนกำไรของบริษัทมากขึ้นอีก นั่นอาจเป็นผลบวกต่อ JPY แต่ผมไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะตอบสนอง ดังนั้นการวิ่งขึ้นใดๆ ก็คงเป็นอยู่ไม่นาน